การใช้จิตวิทยา (Mental Game) ในเกมโป๊กเกอร์
โป๊กเกอร์ไม่ใช่แค่เกมไพ่ที่ต้องอาศัยดวงหรือกลยุทธ์เท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของจิตวิทยาเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมาก จนกลายเป็นหนึ่งในเกมที่ใช้จิตวิทยาในการเล่น (Mental Game) ไม่ว่าจะทั้งในส่วนของการนำมาใช้เป็นกลยุทธ์ในการอ่าน หรือหลอกล่อคู่แข่ง ไปจนถึงเรื่องของการจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง จึงนับได้ว่า แม้จะเป็นเกมกลยุทธ์ แต่ Poker ก็มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องอารมณ์ความรู้สึกอยู่มาก ทำให้เราต้องควรจะต้องเรียนรู้ด้านจิตวิทยา ซึ่งเป็นอีกด้านหนึ่งที่สำคัญนอกเหนือจากด้านตรรกะของเกมโป๊กเกอร์ด้วย
วันนี้ N8TH จึงอยากพามาดูกันว่า จิตวิทยามีบทบาทอย่างไรบ้างในเกมโป๊กเกอร์ และจะนำมาใช้เพื่อพัฒนาการเล่นของตัวเองได้อย่างไรบ้าง
การวิเคราะห์คู่แข่งจากภาษากาย (Tells)
Tells หรือภาษากาย คือสิ่งที่มนุษย์แสดงออกโดยอัตโนมัติจากจิตใต้สำนึก ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อมูลที่นัก Poker อาจจะสามารถนำมาใช้ เพื่อวิเคราะห์หากลยุทธ์การเล่นของคู่แข่งในการเล่นไลฟ์โป๊กเกอร์ได้ และนี่คือ 8 ตัวอย่างของ Tells และการตีความหมาย เพื่อใช้โจมตีคู่แข่ง
- การหายใจ
การเปลี่ยนแปลงในลักษณะการหายใจที่ไม่ปกติ สามารถบ่งบอกถึงความตื่นเต้นหรือความกังวลของมนุษย์ได้ ผู้เล่นบางคนอาจหายใจแรงขึ้นเมื่อได้ไพ่ดีหรือไพ่ที่แข็งแกร่ง หรือบางคนอาจหายใจเร็วขึ้นและหนักขึ้น หรือมีเหงื่อแตกเมื่อกำลังพยายาม Bluff ขณะที่บางคนอาจควบคุมการหายใจเพื่อไม่ให้แสดงอารมณ์ใดๆ ซึ่งจะมีความหมายเป็นอย่างไรนั้น เราอาจจะต้องจับสังเกตหลายๆแฮนด์ไปพร้อมๆกับการเก็บข้อมูลเมื่อเราเห็น Showdown ของคู่แข่ง อาจจะทำให้ข้อมูลที่ได้ มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น - การจับชิพ
การจับชิพหรือการเล่นกับชิพบ่อยๆ เป็นตัวบ่งชี้ที่ดีว่าผู้เล่นคนนั้นกำลังเตรียมพร้อมที่จะเดิมพัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพวกเขารีบวางชิพลงไปบนโต๊ะ อาจเป็นสัญญาณที่แสดงออกว่าพวกเขามั่นใจในไพ่ของตัวเอง และอาจเป็นแฮนด์ที่แข็งแกร่ง ขณะที่ หากพวกเขาจับชิพแล้วลังเลหรือชะงัก อาจบ่งบอกถึงความไม่มั่นใจ ซึ่งอาจเป็นแฮนด์ที่ไม่แข็งแกร่งมาก หรือเขากำลังลังเลที่จะ Bluff อยู่ก็เป็นได้ - การสบตาหรือหลีกเลี่ยงการสบตา
การสบตาหรือหลีกเลี่ยงการสบตาเป็นหนึ่งใน Tells ที่พบได้บ่อย ผู้เล่นที่มีไพ่แข็งแกร่งมักจะกล้าสบตากับคู่แข่งเนื่องจากมีความมั่นใจ ในทางตรงกันข้าม ผู้เล่นที่ Bluff หรือมีไพ่ไม่ดีมักจะหลีกเลี่ยงการสบตา เพราะไม่ต้องการให้คู่แข่งอ่านท่าทางทางจิตใจได้ - การพูดคุยในระหว่างเกม
บางครั้ง วิธีการพูดคุย การสื่อสาร หรือการออกเสียง อาจจะสามารถบ่งบอกสถานะทางจิตใจได้ ผู้เล่นที่พูดมากเกินไปจนดูลนลาน หรือมีความสนุกสนาน อาจทำเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากความกังวลเกี่ยวกับไพ่ของตัวเอง ขณะที่บางคน ใช้ความเงียบ เพื่อปกปิดการแสดงออก ซึ่งเป็นลักษณะส่วนใหญ่ของการเล่นไลฟ์โป๊กเกอร์ เพื่อระมัดระวังไม่ให้ตัวเองสื่อสารอะไรออกไปโดยไม่ตัังใจ - การเคลื่อนไหวร่างกาย
การเคลื่อนไหวร่างกายที่ดูผ่อนคลาย เช่น การยืดหรือเอนหลัง การนั่งที่ดูผ่อนคลาย อย่างการไขว่ห้างที่เผลอทำเป็นบางครั้ง ก็อาจบ่งบอกได้ถึงความมั่นใจของผู้เล่นคนนั้น ว่าตัวเองมีแฮนด์ที่ดี ในขณะที่ผู้เล่นที่นั่งเกร็งหรือขยับตัวบ่อยๆ มีท่าทีที่ดูไม่ค่อยผ่อนคลาย มักจะรู้สึกกังวลหรือไม่แน่ใจเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน บ่งบอกว่าตัวเขาอาจจะไม่ได้มีไพ่ที่แข็งแกร่งมากนัก - การดื่มน้ำหรือสัมผัสใบหน้า
การสัมผัสใบหน้า การดื่มน้ำ หรือการเคาะนิ้ว อาจเป็นการแสดงออกทางจิตวิทยา ผู้เล่นที่มีไพ่ที่ดีมักจะควบคุมพฤติกรรมของตัวเองได้ดี ในขณะที่ผู้เล่นที่กำลัง Bluff มักจะแสดงอาการทางกายภาพที่ค่อนข้างดูหลุกหลิก ไม่ค่อยสงบได้มากกว่า เช่น การดื่มน้ำบ่อยๆเพื่อกลบความตื่นเต้น หรือการสัมผัสใบหน้า เกาแก้ม จับคาง ลูบหน้า ปาดเหงื่อ เพื่อบรรเทาความเครียด - การมองไพ่และการตรวจสอบไพ่ซ้ำ
หากคู่แข่งตรวจสอบไพ่ของตัวเองซ้ำหลายครั้ง หลังจากที่ไพ่กองกลางถูกเปิดแล้ว อาจบ่งบอกว่าเขาไม่มั่นใจเกี่ยวกับไพ่ในมือ หรืออาจเป็นการเช็คเพื่อดูว่าไพ่ของเขายังคงมีความแข็งแกร่งดีอยู่หรือไม่ หากเขามีไพ่ที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว มักจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบซ้ำบ่อยๆ - การเคลื่อนไหวของมือ
การเคลื่อนไหวของมือและท่าทางในการวางไพ่หรือวางชิพ สามารถบ่งบอกถึงระดับความมั่นใจได้ เช่น การวางชิปอย่างรวดเร็วและแข็งแรงมักแสดงถึงความมั่นใจ ขณะที่การวางชิปอย่างระมัดระวังหรือช้าบ่งบอกถึงความลังเล และมือที่สั่นเทา คือการบ่งบอกถึงความตื่นเต้น ซึ่งอาจะเป็นไปได้ทั้งการที่เขาอาจจะมีไพ่ดี เลยตื่นเต้นที่กำลังจะได้กินคู่แข่ง หรืออาจจะกำลัง Bluff อยู่ แล้วกลัวโดนจับได้เช่นกัน
อย่าลืมว่า ลักษณะทางกายภาพที่แสดงออกของแต่ละคนนั้น อาจจะมีความหมายแตกต่างกันได้ และบางคนอาจจะสามารถควบคุมพฤติกรรมของตนเอง จนแกล้งแสดงออกในทางตรงกันข้ามได้เช่นกัน หรือบางคน ก็นิ่งเงียบเสียจนไม่สามารถอ่าน Tells อะไรได้เลยก็มี ดังนััน อย่าเพิ่งเชื่อในสิ่งที่เราเห็นในทันที แต่หมั่นสังเกตพฤติกรรมของคู่แข่งคนเดิมๆบ่อยๆ ไปพร้อมๆกันการจดจำ Showdown ของเขา และนำ 2 สิ่งนี้มาเชื่อมโยงกัน ถ้าความเชื่อมโยงนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ การแสดงออกทางพฤติกรรมที่ส่งผลต่อการตัดสินใจแบบนั้น ก็จะเริ่มชัดเจนและน่าเชื่อถือมากขึ้น
การใช้จิตวิทยาทางกลยุทธ์เพื่อหลอกล่อคู่แข่ง
การใช้จิตวิทยาทางกลยุทธ์ในโป๊กเกอร์หมายถึงการหลอกล่อ ทำให้คู่แข่งเชื่อหรือไม่เชื่อในสิ่งที่เราแสดงออก จนอาจทำให้คู่แข่งเกิดความสับสน และเดาทางเราไม่ออก ซึ่งการหลอกล่อคู่แข่งนั้น อาจจะแบ่งออกเป็น 2 แนวทางหลักๆ คือ :
- การหลอกล่อคู่แข่งเชิงกลยุทธ์การเล่นเพื่อสร้างภาพจำบนโต๊ะ (Table Image)
เป็นการหลอกล่อคู่แข่ง โดยใช้กลยุทธ์การเล่นแบบหนึ่งซ้ำๆในช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อให้คู่แข่งติดภาพจำของเรา ว่าเราเป็นผู้เล่นสไตล์นั้น แล้วพอเราเริ่มรู้สึกว่า คู่แข่งเริ่มปรับมาใช้กลยุทธ์เพื่อโจมตีจุดอ่อนของเรา เราก็ปรับกลยุทธ์อีกที ให้ตรงข้ามกลยุทธ์เดิม เพื่อทำให้คู่แข่งอาจะเราพลาด และเปิดช่องให้เราโจมตีกลับได้ ตัวอย่างเช่น :
เราเริ่มต้นด้วยการเล่นอย่างระมัดระวังตัว ไม่แสดงความแข็งแกร่งใดๆ โดย Fold บ่อยๆกับแฮนด์ที่ไม่ดีมาก ทำให้คู่แข่งเริ่มโจมตีเราด้วยการเล่นแบบดุดันมากขึ้น ด้วยการ Bluff บ่อยขึ้น และ Bet ใหญ่ขึ้น เพราะมองว่า Table Image ของเราคือคน “ขี้ขลาด” ถึงจุดนี้ เราอาจจะปรับการเล่นมาใช้วิธีการ “วางกับดัก” ด้วยการ Slow Play (เน้นเล่นแบบ Check Call)กับแฮนด์ที่แข็งแกร่ง แล้วปล่อยให้คู่แข่ง Bluff เรื่อยๆ เราก็จะสามารถได้กำไรมากขึ้นจาก Bluff ของคู่แข่ง หรือ เราอาจปรับมาเล่นแบบดุดันแบบกะทันหัน ก็อาจทำให้คู่แข่ง Fold ให้เรามากขึ้น เพราะคิดว่าเราจะเล่นดุดันก็ต่อเมื่อเรามีไพ่ดีจริงๆ
เริ่มเล่นแบบดุดัน ด้วยการ Bluff บ่อย ทำให้คู่แข่งปรับตัวมากล้า Call จับ Bluff เรามากขึ้น เพราะมองว่า Table Image ของเราคือคน “ขี้บลัฟ” แล้วเราถึงปรับกลยุทธ์อีกที ด้วยลด Bluff ลง และ Bet ใหญ่ขึ้นกับแฮนด์ที่แข็งแกร่งของเรา ก็จะมีโอกาสได้กำไรจากการจับ Bluff ของคู่ต่อสู้มากขึ้น - การหลอกล่อคู่แข่งด้วยการแสดงออกในทางตรงกันข้ามหรือจิตวิทยาย้อนกลับ (Reverse Psychology)
จิตวิทยาย้อนกลับ คือการแสดงออกเพื่อแสร้งให้คู่ต่อสู้คิดว่าเราเป็นคนแบบนั้น ทั้งๆที่ความจริงเป็นในทางตรงข้าม ตัวอย่างเช่น การแกล้งแสดงออกที่แสดงถึงความไม่มั่นใจ ผ่านทาง Tells ต่างๆ ตามที่แนะนำไว้ข้างต้น เช่น ทำท่าที่ดูไม่สบาย, ทำมือสั่น, ทำตัวหลุกหลิก เพื่อให้คู่แข่งคิดว่า เรามีไพ่ที่ไม่ค่อยดี หรือกำลัง Bluff อยู่ แต่แท้จริงแล้ว เรามีไพ่ที่แข็งแกร่งมากๆ หรือในทางตรวกันข้าม คือแสดงออกถึงความมั่นใจ ทั้งๆที่เรามีไพ่ที่ไม่ดีและกำลัง Bluff อยู่ เป็นต้น
นอกจากนี้ ก็ยังมีการใช้จิตวิทยา ไม่ใช่เพื่อหลอกล่อคู่ต่อสู้ แต่เพื่อทำให้คู่ต่อสู้เสียสมาธิ หัวเสีย หงุดหงิด จากการใช้วิธีปั้นประสาทด้วยคำพูด หรือหากเป็นผู้เล่นหญิงก็อาจทำให้ผู้เล่นชายเสียสมาธิจากการแต่งกาย การใช้กลิ่น ใช้น้ำเสียง รวมถึง อาจมีการใช้บทสนทนาต่างๆ มาชวนคุย ถึงทัศนคติ ความคิด ประสบการณ์ต่างๆ เพื่อล้วงหาข้อมูลส่วนตัวของคู่แข่ง มาใช้ในการวิเคราะห์การเล่นได้เช่นกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เล่นแต่ละคนควรตระหนัก และระมัดระวังตัวให้มากขึ้น
มองแบบผิวเผิน การนำหลักการทางจิตวิทยา มาใช้ในการวิเคราะห์คู่แข่ง หรือสร้างความสับสนให้คู่แข่ง อาจจะเป็นกลยุทธ์ที่ดี หรือน่าสนใจ ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสการเป็นผู้ชนะให้เรามากขึ้น อย่างไรก็ตาม มันก็เป็นเรื่องที่เราควรเลือกใช้อย่างระมัดระวัง เพราะมนุษย์อาจมีความซับซ้อนกว่าที่เราคิด ทำให้เราอาจวิเคราะห์ผิดพลาด จนเกิดความเสียหายมากกว่าผลดี หรือการที่เราพยายามปั่นประสาทคู่ต่อสู้ มันก็อาจย้อนกลับมาที่ตัวเรา ทำให้เราเป็นฝ่ายเสียสมาธิ หลุดโฟกัสจากการเล่นบนโต๊ะไปเองก็ได้ นอกจากนั้น มันยังอาจเป็นการดึงดูดการเพ่งเล็งจากคู่แข่งมาที่ตัวเองโดยไม่จำเป็น หรืออาจจะถึงขั้นทำให้คู่แข่งขาดความเคารพต่อตัวเรา เพราะเรามีพฤติกรรมที่แย่จนเกินเหตุ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักโป๊กเกอร์มืออาชีพไม่ควรทำอย่างยิ่ง
การฝึกฝนจัดการกับอารมณ์ของตัวเองเวลาพ่ายแพ้และหัวเสีย (Tilt)
อาการหัวเสีย/หัวร้อน หรือ “Tilt” คือสภาวะที่เรารู้สึกอารมณ์เสียอย่างรุนแรง หลังจากเผชิญกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดหรือสถานการณ์ที่แย่มากๆ เช่น แพ้แฮนด์ใหญ่ จนทำให้เสียชิพหรือเงินจำนวนมาก, การที่ถูกคู่ต่อสู้พลิกกลับมาเอาชนะได้อย่างเหลือเชื่อ ทั้งๆที่เขาเอาไพ่แย่ๆมาเล่น แต่ดันโชคดี หรือเราอยู่ในช่วง Downswing ที่เจอแต่ผลลัพธ์แย่ๆติดๆกันมาเป็นเวลานาน ทำให้เราสูญเสียการตัดสินใจที่เฉียบคม โดยขาดความยั้งคิดมากขึ้น ซึ่งสามารถนำไปสู่การเสียชิพหรือเสียเงินมากขึ้นได้
การจัดการกับอารมณ์ตัวเองจึงเป็นเรื่องสำคัญอีกประการหนึ่งของการเล่นโป๊กเกอร์ เพราะเราต้องใช้ความคิดวิเคราะห์และกลยุทธ์ในการเล่น หากเราอยู่ในสภาวะ Tilt จะทำให้การตัดสินใจในเกมไม่ดีพอ เช่นเดียวกับการจมดิ่งอยู่กับความล้มเหลว การฝึกสติและการเรียนรู้ที่จะปล่อยวางความรู้สึกเมื่อเจอเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด จึงเป็นทักษะสำคัญที่จะช่วยให้เราสามารถกลับเข้าสู่เกมได้โดยไม่เสียสมาธิ และสามารถรักษาสมดุลทางจิตใจและประสิทธิภาพการเล่นของเราในระยะยาวได้ ดังนั้นการรู้วิธีจัดการกับอารมณ์เหล่านี้จะช่วยให้เราคงความมีสติและมีโอกาสกลับมาเล่นได้ดีขึ้น และนี่คือคำแนะนำที่น่าจะช่วยให้ทุกคนจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น :
- ยอมรับว่า โชคร้ายและความแพ้เป็นส่วนหนึ่งของเกม
โป๊กเกอร์เป็นเกมที่ไม่สามารถควบคุมทุกอย่างได้ โดยเฉพาะผลลัพธ์ แม้ว่าเราจะตัดสินใจอย่างถูกต้องทุกอย่างแล้วก็ตาม เพราะมันก็ยังมีองค์ประกอบในเรื่องของโชคเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้เราอาจจะแพ้ได้บ่อยมากกว่าชนะ ดังนั้น การทำใจยอมรับว่า โชคร้ายและความพ่ายแพ้เป็นส่วนหนึ่งของเกม ที่ยังไงเราก็ต้องเจอ อาจจะช่วยลดความกดดันและความเครียดเมื่อเราต้องเจอกับผลลัพธ์ที่ไม่พึงพอใจบ่อยๆได้อยู่บ้าง - หยุดพักเมื่อรู้สึกถึงสัญญาณเตือนอาการ Tilt
หากเราเริ่มรู้สึกว่า ความเครียดและความโกรธกำลังเพิ่มขึ้น ควรหยุดพักทันที เพื่อหลีกเลี่ยงการตัดสินใจที่ไม่ดี การหยุดพักสักครู่ เช่น การลุกจากโต๊ะ เดินเล่น หรือดื่มน้ำ สามารถช่วยให้เราสามารถปรับสภาพอารมณ์และกลับมาเล่นด้วยจิตใจที่สงบมากขึ้นได้ ส่วนจะต้องพักเร็วหรือนานแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล บางคนหายเร็วหายช้า, ความหนักหนาของสถานการณ์ที่เจอ ถ้าเจอหนักเราก็อาจจะต้องใช้เวลาพักนานหน่อย หรือข้อจำกัดในการเล่น ที่การเล่นทัวร์นาเมนต์อาจจะทำให้เราพักนานไม่ได้ ต้องรีบรวบรวมสติกลับมาแข่งต่อให้จบ เป็นต้น - ฝึกควบคุมการหายใจและการเจริญสติ (Mindfulness)
การจะรู้สึกตัวว่าเรากำลัง Tilt ได้นั้น เราจำเป็นจะต้องมี “สติ” ก่อน เราจึงจะสามารถตระหนักถึงภาวะปัจจุบันของตัวเองได้ ซึ่งเราสามารถฝึกสติได้โดยการฝึกหายใจเข้าลึกๆ และช้าๆ นับ 1-4 แล้วค่อยๆ หายใจออกทางปาก ทำเช่นนี้ซ้ำๆหลายๆครั้ง เป็นเทคนิคที่ช่วยลดความตื่นเต้นและความเครียดในระยะสั้นได้ดี นอกจากนี้การฝึกเจริญสติ (Mindfulness) โดยการจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน หรือการนั่งสมาธิอย่างน้อย 5-10 นาที เป็นประจำทุกวัน ก็จะช่วยลดความว้าวุ่นของจิตใจ ได้คิดทบทวนเรื่องต่างๆอย่างเป็นเหตุเป็นผล และทำให้เรามีสติรวมถึงความมั่นคงทางอารมณ์มากขึ้นได้ - เรียนรู้ที่จะปล่อยวางผลลัพธ์
บางครั้ง การที่ผู้เล่นหลายคนเข้าสู่ภาวะ Tilt ก็เกิดจากการยึดติดกับผลลัพธ์มากเกินไป ซึ่งทำให้เกิดความผิดหวังอย่างรุนแรงเมื่อผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง เราจึงควรทำความเข้าใจธรรมชาติของเกมว่า เราไม่สามารถควบคุมผลลัพธ์ได้ เราสามารถควบคุมได้แต่การกระทำของตัวเราเท่านั้น ดังนั้น เราทำได้ดีที่สุดแค่โฟกัสไปที่การเล่นให้ดีที่สุด โดยพยายามตัดสินใจอย่างมีเหตุผลในแต่ละแฮนด์ แล้วปล่อยวางกับผลลัพธ์ในระยะสั้น จะช่วยลดความกดดันและทำให้เรามีจิตใจที่มั่นคงมากขึ้น - วิเคราะห์สถานการณ์อย่างเป็นกลาง
เมื่อเกิดการแพ้ในแฮนด์ใหญ่ๆ หรือเผชิญกับผลลัพธ์ที่ไม่ดี เราต้องพยายามอย่าปล่อยให้อารมณ์เข้ามาครอบงำการตัดสินใจ แล้วลองวิเคราะห์สถานการณ์นั้นอย่างมีเหตุผล โดยถามตัวเองว่าการตัดสินใจนั้นเป็นไปตามกลยุทธ์หรือไม่ และมีอะไรที่เราสามารถปรับปรุงได้ การมองทุกอย่างเป็นประสบการณ์การเรียนรู้เท่านั้น ที่จะช่วยให้เราเติบโตและไม่เสียสมาธิในระยะยาว หากไม่เช่นนั้น เราอาจจะโทษทุกอย่าง เช่น โทษระบบของแพลตฟอร์ม, โทษดีลเลอร์ หรือโทษคู่แข่ง ซึ่งนอกจากจะทำให้เราจมอยู่กับความรู้สึกแย่ๆแล้ว ก็ไม่ได้ช่วยให้เราเกิดการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาแต่อย่างใด - ตั้งขีดจำกัดในการเล่น
การเล่นโป๊กเกอร์เป็นเวลานานมากเกินไป หรือฝืนเล่น ทั้งๆที่รู้สึกเหนื่อยล้า อาจทำให้ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ของเราลดลง ดังนั้น เราอาจจะลองตั้งขีดจำกัดในการเล่นไว้ล่วงหน้า เช่น การกำหนดเวลาที่จะเล่น การตั้งวงเงินเดิมพันมากสุดที่เสียได้โดยไม่ทำให้เรากเกิดความเครียด หรือหยุดทันทีที่เราเริ่มรู้สึก Tilt การจัดการขีดจำกัดนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้เราเกิดอาการ Tilt ได้ง่ายๆ เมื่อสิ่งต่างๆ ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง - เรียนรู้จากความผิดพลาดและปรับปรุงตนเอง
เราต้องคิดว่า ความผิดพลาดในเกมโป๊กเกอร์เป็นโอกาสที่ดีในการเรียนรู้ อย่ามองความพ่ายแพ้หรือความผิดหวังคือความล้มเหลวของชีวิต แต่จงมองว่า มันคือโอกาสในการพัฒนาตนเอง วิเคราะห์ว่าเราทำอะไรผิดพลาด แล้วนำความรู้จากสิ่งนั้นมาใช้เพื่อปรับปรุงในการเล่นครั้งต่อไป - พูดคุยหรือปรึกษากับคนที่เข้าใจ
บางครั้งการมีเพื่อน, ที่ปรึกษา หรือโค้ชที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโป๊กเกอร์ ก็สามารถช่วยให้เรารับมือกับความรู้สึก Tilt ได้ดี การได้ระบาย หรือพูดคุยเกี่ยวกับความผิดหวังหรือปัญหาที่เราเผชิญอยู่ หรือขอคำปรึกษาเรื่องการพัฒนาและปรับปรุงการเล่นที่ผิดพลาด อาจช่วยทำให้เรามองเห็นมุมมองใหม่ๆที่จะช่วยพัฒนาการเล่นและฟื้นฟูอารมณ์ความรู้สึกของเราได้ดีขึ้น
การจัดการอารมณ์ในเกมโป๊กเกอร์ ก็ถือเป็นทักษะที่ต้องการการฝึกฝน ไม่ต่างกับการเรียนรู้และฝึกฝนเพื่อพัฒนากลยุทธ์ในการเล่น การมีหลักคิดที่ดี ด้วยการทำความเข้าใจธรรมชาติของเกมให้ลึกซึ้ง การฝึกเจริญสติ เพื่อให้เรามีสติรู้ตัวและสามารถควบคุมอารมณ์ความรู้สึกได้ดีขึ้น รวมถึงการจิตใจให้เข้มแข็งและการจัดการอารมณ์อย่างถูกวิธี จะช่วยให้เราสามารถรับมือกับอารมณ์ของตัวเอง รวมถึงความผิดหวังต่างๆ เพื่อให้เรายืดหยัดเล่นโป๊กเกอร์อย่างแข็งแกร่งในระยะยาวได้